ปลายักษ์น่าเกลียดเพียงว่ายวนไปมาตรงผิวน้ำ ปรากฏพอถูกเจ้าสามตัวนั้นพบเข้า พวกมันก็เหมือนได้เจอของเล่นใหม่ จึงพากันมุดลงน้ำว่ายตามปลาใหญ่ตัวนั้นไป
ปลาใหญ่ค่อนข้างแตกตื่นหลังพบว่าตัวเองกำลังโดนเจ้าสามตัวจ้องอยู่ มันรีบดำลงไปใต้น้ำ ทว่าด้านพลังในการดีดตัวไม่มีทางสู้โลมาปากขวดได้ แม้แต่วาฬเบลูกากับฉลามเสือทราย ยิ่งเป็นบีนที่ได้รับพลังโพไซดอนมามากมายแล้วด้วย
หางที่โค้งปราดเปรียวเคลื่อนไหวเต็มกำลัง บีนดีดตัวพุ่งไปอย่างรวดเร็วดั่งตอร์ปิโด และเข้าขวางทางปลาใหญ่ได้ทันที
จากนั้นไม่นาน บอลหิมะก็อ้าปากตามติดมา ไอซ์สเกตเองก็คอยจ้องตาเป็นมันอยู่ด้านข้าง ขวางปลาใหญ่ไว้ทั้งสามทางพร้อมกัน
พอเห็นท่าทางตื่นตระหนกหวาดกลัวของปลาใหญ่เช่นนั้น ฉินสือโอวจึงรู้ว่าถึงหน้าตาของมันจะดูโหดเหี้ยม แต่นิสัยคงน่าจะสงบเสงี่ยม อย่างน้อยก็ไม่ก้าวร้าวนัก ไม่งั้นหากไม่นับฟันแหลมคมหรือรูปร่าง ถ้าเทียบกับบีนแล้วก็ยังได้เปรียบพอที่จะสามารถโจมตีบีนได้ตรงๆ ด้วยซ้ำ
เจ้าสามตัวนี้ก้าวร้าวเกินไป ซึ่งเป็นจุดที่ฉินสือโอวไม่ชอบนัก ในทะเลนั้นยังมีเสือซุ่มมังกรซ่อนที่แข็งแกร่งราวสัตว์ประหลาดยักษ์อยู่แบบนั้นจะไม่เดือดร้อนเอาเหรอ? ทั้งสามตัวก้าวร้าวขนาดนี้ อนาคตอาจมีเรื่องได้ง่ายๆ เขาเองก็ไม่สามารถคอยตามอยู่ข้างๆ ได้ตลอดจริงไหม?
ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจจะให้บทเรียนกับเจ้าสามตัวผ่านปลาใหญ่ตัวนี้ ขณะเดียวกันอีกด้านเขาก็คุยกับบิลลี่ไปด้วย “นายว่าอะไรนะ ซีลาแคนท์? นี่คือปลาซีลาแคนท์งั้นเหรอ?”
ฉินสือโอวได้ยินบิลลี่เรียกปลาซีลาแคนท์ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย วิธีการเรียกไม่ค่อยโอ้อวดนัก ปลาชนิดนี้ต้องมีค่าอย่างแน่นอน
ความล้ำค่าของพวกมันก็คือเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อันแสนมีค่าแบบหมีแพนด้ายักษ์นั่นเอง พวกมันยังถูกเรียกว่าฟอสซิลมีชีวิตอีกด้วย
ปลาซีลาแคนท์อินโดจัดเป็นปลาครีบพู่ และปลาครีบพู่มักถูกเข้าใจว่าเป็นบรรพบุรุษของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ตามทฤษฎีของดาร์วิน บรรพบุรุษสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมาจากทะเล ซึ่งเจาะจงไปทางปลาครีบพู่
การวิจัยทางชีววิทยาสมัยปัจจุบันเชื่อว่า ช่วงปลายยุคดีโวเนียนปลาครีบพู่ที่เริ่มขึ้นมาบนบกเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังสายพันธุ์แรกสุด และเปิดปฐมบทแห่งการครองโลกอันยิ่งใหญ่ของสัตว์มีกระดูกสันหลังขึ้นมา
สาเหตุที่อนุมานเช่นนี้คือ สายพันธุ์ในทะเล ณ เวลานั้นมีเพียงปลาครีบพู่ที่มีโครงสร้างปอดแบบดั้งเดิม แล้วสามารถหายใจนอกทะเลได้ และมีแค่ครีบอวบเนื้อของพวกมันที่แข็งแรงพอจะพยุงร่างกายขึ้นบกได้
ตอนฉินสือโอวเห็นมันก่อนหน้านี้ ก็รู้สึกว่าครีบข้างมันดูแข็งแรงมาก น่าจะพยุงพาตัวมันปีนขึ้นบกได้ ปรากฏว่าในยุคโบราณ บรรพบุรุษของมันก็ดันทำแบบนั้นมาแล้วจริงๆ
ก่อนปี 1938 เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ว่า ปลาครีบพู่นั้นได้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 8000 ปีก่อนแล้ว ทว่าในปี 1938 ได้มีการค้นพบปลาลาติเมอเรีย[1]ตัวเป็นๆ ที่แอฟริกาใต้ หลังจากนั้นมังกรโคโมโดก็ล่าปลาชนิดนี้ไปจำนวนมาก เป็นการพิสูจน์ความเห็นที่ว่าปลาชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์
สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ปลาซีลาแคนท์ถือเป็นเครื่องมือทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีค่าจริงๆ เพราะร่างกายปลาครีบพู่นั้นยังมีสิ่งน่าพิศวงอีกมาก หากจะวิจัยเรื่องต้นกำเนิดของมนุษยชาติย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะศึกษาพวกมัน
ต่อให้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องต้นกำเนิดสายพันธุ์ก็ยังต้องไขข้อสงสัยอีกมากมายเกี่ยวกับปลาพันธุ์นี้อยู่ดี
เช่นจากการวิจัย วงการวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้สองชั่วโมงเมื่อออกจากน้ำ ทว่าพอถูกจับขึ้นจากน้ำแล้วปลาซีลาแคนท์กลับสามารถมีชีวิตได้ถึงสิบกว่าชั่วโมง
ตัวอย่างอื่นๆ เช่นปลาครีบพู่โดนเข้าใจว่าเป็นปลาที่อยู่ในน้ำลึกมาก สภาพแวดล้อมที่อาศัยน่าจะเป็นร่องลึกหนึ่งหมื่นเมตร นี่เป็นการอนุมานมาจากโครงสร้างของมัน กะโหลกศีรษะมีความแข็งมากเพื่อกลืนเหยื่อได้โดยไม่ต้องเคี้ยว นี่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับการอยู่ในแรงดันน้ำที่สูงมาก ภายในกะโหลกศีรษะยังมีข้อต่อที่ยาวทำให้มันสามารถอ้าปากกว้างได้
ทว่าตอนที่พวกชาวประมงจับปลาพวกนี้ได้กลับพบว่า พวกมันอาศัยอยู่ในน่านน้ำตื้นอย่างมากก็สี่ห้าร้อยเมตร
ในแง่เทคโนโลยีชีวจักรกล ปลาซีลาแคนท์ก็ถือเป็นเครื่องมือในการวิจัยที่มีค่าเช่นกัน เพราะพวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับแรงดันที่เปลี่ยนแปลงได้ มีร่องรอยของพวกมันในน้ำตื้น พอโดนจับขึ้นมาบนบกก็มีชีวิตอยู่ได้ถึงสิบกว่าชั่วโมง ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นในทะเลที่ทำถึงขั้นนั้นได้
หลายๆ สาเหตุรวมกันจึงกลายเป็นปลาที่มีค่าเช่นนี้เอง
เมื่อเก้าสิบปีก่อน ราคาปลาทะเลทั่วโลกมีการบันทึกให้อนุรักษ์พวกมันไว้ ตอนที่ชาวประมงแอฟริกาใต้จับปลาซีลาแคนท์ยาวสองเมตรได้ตัวหนึ่ง แล้วประมูลได้ถึงสองแสนแปดหมื่นดอลลาร์สหรัฐ ราคาสูงเฉียดฟ้าเลยทีเดียว นั่นคือเมื่อเก้าสิบปีก่อนนะ!
คำนวณตามอัตราเงินเฟ้อ ราคาปลาทูน่าครีบน้ำเงินของฉินสือโอวที่ได้รับการบันทึกในงานประมูลตลอดมา ก็ยังสู้ปลาซีลาแคนท์ไม่ได้เลย
เก้าสิบปีต่อมา ปลาซีลาแคนท์ถูกค้นพบน้อยลง มีเพียงแถวน่านน้ำเกาะโคโมโดที่นานๆ จะจับพวกมันได้ ในเกาะโคโมโด มีการห้ามจับหรือส่งขายปลาชนิดนี้โดยส่วนตัวอย่างเด็ดขาด
เกาะโคโมโดได้เรียนรู้จากจีน โดยทำให้ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์ทางการทูตแบบแพนด้ายักษ์ เช่นเมื่อปี 1980 ตอนที่สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน พวกเขาก็ส่งตัวอย่างปลาซีลาแคนท์ตัวหนึ่งมาให้ และทางการจีนก็ส่งรถแทรกเตอร์สองคันกับเครื่องจักรที่ผลิตเองให้เป็นการตอบแทน
ที่นี่คือน่านน้ำโซมาเลียไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลของเกาะโคโมโด ถ้าคุณจับได้ มันก็จะกลายเป็นของคุณในทันที…อย่างน้อยก็ได้สักสองล้านดอลลาร์สหรัฐ และแน่นอนว่าต้องมีสถาบันวิจัยหลายประเทศมาแย่งชิงกัน ถ้าจัดการดีๆ ราคาประมูลสูงเฉียดฟ้าก็ไม่ถือว่าเกินเอื้อม
“พวก ให้สัตว์เลี้ยงนายจับปลาตัวนั้นไว้! จับแล้วขายมัน จะทำราคาได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐเลยนะ!”
ฉินสือโอวยักไหล่ตอบ “ก่อนอื่นถึงพวกเราจะจับมันได้ แต่นายดูท่าทางดุร้ายของมันสิ สัตว์เลี้ยงฉันน่าจะเป็นคู่ต่อสู้มันไม่ไหวหรอก”
พลังโพไซดอนหลั่งไหลเข้าสู่ร่างปลาซีลาแคนท์ ฉินสือโอวใช้จิตสำนึกโพไซดอนควบคุมร่างกายมัน แล้วเบรกกะทันหัน ตวัดหางอันทรงพลังใส่วาฬเบลูกาที่ตามมาด้านหลังเข้าแสกหน้า!
จัดการวาฬเบลูกาแล้ว ฉินสือโอวก็ปักหลักสู้ต่อ เร่งความเร็วพุ่งเข้าใส่บีนที่ว่ายเข้ามาอย่างดุร้าย
บีนผวา ทำไมจู่ๆ เจ้าหมอนี่ถึงเปลี่ยนไปฮึกเหิมได้ขนาดนี้กัน?
จังหวะที่มันลังเล ปลาซีลาแคนท์ก็พุ่งเข้าถึงตัวมันแล้ว ขณะเดียวกันฉินสือโอวที่ควบคุมปลาซีลาแคนท์ไว้ชั่วคราวก็หมุนตัว ยกหัวขึ้นให้โหม่งกับหัวบีน
กะโหลกของปลาซีลาแคนท์นั้นหนามาก อย่างที่ทราบกันว่ามันถูกเข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกหมื่นเมตร ถ้าหัวไม่แข็งพอ สมองคงโดนแรงดันน้ำทะเลอัดเละเป็นเต้าหู้ไปแล้ว
พอโดนโหม่ง บีนก็เจ็บปวดมาก มันที่อยู่ตรงผิวน้ำพอดี พอโดนกระแทกใส่ก็ปลิวจนกระเด็นลอยเหนือน้ำเลยทีเดียว เรียกได้ว่าน่าอดสู
ในบรรดาทั้งสามตัว ไอซ์สเกตมีความกล้าหาญที่สุด ถึงมันจะเป็นฉลามเสือทราย แต่ก็เป็นฉลามเสือทรายที่กล้าสู้กับฉลามขาว
เมื่อเผชิญหน้ากับปลาซีลาแคนท์อันดุร้าย ไอซ์สเกตก็อ้าปากโชว์เขี้ยวแหลมคม ปรากฏว่าปลาซีลาแคนท์ที่พุ่งเข้ามาถึงด้านหน้ามันกลับหมุนตัวหลบปากใหญ่ของมัน แล้วอ้อมไปโจมตีด้านข้างไอซ์สเกตแทน
จุดอ่อนเพียงหนึ่งเดียวของฉลามเสือทรายคือ มันหมุนตัวได้ช้า
พอได้รับพลังจากพลังโพไซดอนเรื่อยๆ ความเร็วและเรี่ยวแรงของปลาซีลาแคนท์จึงเพิ่มขึ้น ด้วยการโจมตีไม่กี่ครั้งก็ทำไอซ์สเกตพ่ายแพ้แล้ว…
……………………………………………………..
[1] Latimeria ปลาซีลาแคนท์อีกชนิดหนึ่ง