แม่ที่ชอบเด็กแรกเกิดมากเป็นพิเศษมีอยู่สองแบบ หนึ่งคือคนในครอบครัวต่างช่วยดูแลลูกให้ แบ่งเบาภาระของแม่ ทำให้คนเป็นแม่ได้มีความสุขกับการได้ให้กำเนิดชีวิตใหม่ ส่วนอีกแบบก็คือ แสดงให้คนอื่นเห็นโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งก็คือการ ‘เสแสร้ง’ แต่อันที่จริงการเสแสร้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายสำหรับคนเป็นแม่
ผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ ‘การเสแสร้ง’ นี้สะกดจิตตัวเอง เมื่อคนรอบตัวคิดว่าการที่แม่รักลูกนั้นเป็นเรื่องปกติ ตัวเองก็จะสะกดจิตตัวเอง จากนั้นก็จะค่อยๆยอมรับบทบาทความเป็นแม่ หลงรักลูกตัวเองได้ไวยิ่งขึ้น
แต่ก็ไม่ตัดคนที่เป็นเหมือนพี่สะใภ้ทิ้ง ชีวิตไม่ง่าย อีกทั้งยังเหนื่อยแสนเหนื่อย การสะกดจิตไม่เป็นผลเท่าไร
หากลองไปถามคนที่ต้องเลี้ยงลูกเอง ถ้าไม่ต้องทุกข์ทรมานแบบนั้น มีเหรอจะไม่ชอบเด็ก?
เหมือนตอบรับคำพูดของเสี่ยวเชี่ยน ไม่รู้ว่ามีเสียงเด็กทารกร้องมาจากบ้านไหน ภายในหมู่บ้านที่มีการเก็บเสียงค่อนข้างดีนี้กลับยังมีเสียงรบกวนเล็ดลอดออกมาได้ เสียงร้องของเด็กลอยมาเข้าหูเสี่ยวเชี่ยนกับพี่สะใภ้อย่างชัดเจน
“ดูสิ เด็กแรกเกิดทั้งร้องทั้งงอแง หากอยากจะปรับตัวให้ชินกับการมีตัวตนของเขาย่อมต้องใช้เวลาทั้งนั้น ตอนนั้นพี่คงลำบากมากเลยใช่ไหมคะ?” เสี่ยวเชี่ยนพูดเหมือนไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับเข้าถึงจิตใจ
“ใช่ พี่เหนื่อยแทบตาย ก่อนคลอดพี่น้ำหนักหกสิบ พอเลี้ยงลูกเองหายไปสิบโลได้ พอลูกโตหน่อยน้ำหนักพี่ถึงได้กลับมา มีช่วงหนึ่งมีเรื่องที่พี่อยากทำมากที่สุดก็คือนอนโง่ๆทั้งวันทั้งคืน”
“ฉันเข้าใจความรู้สึกของพี่ค่ะ” เสี่ยวเชี่ยนเองก็นึกถึงเมื่อชาติก่อนที่เธอต้องเลี้ยงดูเสี่ยวเหวย
ตอนนั้นเธอไม่มีใครในครอบครัว ชีวิตอยู่อย่างอัตคัด เลี้ยงลูกคนเดียวจนเกือบเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ต่อมาพอลูกค่อยๆโตขึ้น เรียกแม่ได้ อ้อนเก่ง เสี่ยวเชี่ยนจึงยิ่งรักลูกมากขึ้น มากถึงขนาดยอมทิ้งโลกใบนี้ได้
โลกภายนอกรู้จักแต่ใช้ความคิดโบราณมาผูกมัดผู้หญิง ก็เหมือนกับความคิดของจู้จื่อที่คิดว่าผู้หญิงควรจะชอบเด็กอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ถ้าเกลียดก็คือผิดปกติ ลำพังแค่ความคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
ดังนั้นผู้หญิงหลังคลอดหลายคนจึงมักเป็นซึมเศร้าหลังคลอด
วิธีจัดการที่ถูกต้องก็คือแบ่งเบาภาระของคนเป็นแม่ คนในบ้านต้องช่วยเหลือ แล้วแม่เด็กก็จะมีความสุขที่ได้ให้ความรักและถูกรัก ฟังเสียงลูกเรียกแม่ครั้งแรก มองลูกหัดเดิน เห็นเขาค่อยๆเติบโต ความรู้สึกนั้นชนะทุกสิ่ง ความรักของแม่ก็จะเบ่งบาน แต่สถานการณ์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
อันที่จริงสถานการณ์แบบของพี่สะใภ้ก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร พบเจอได้บ่อยด้วยซ้ำ
สิ่งที่ได้รับยากที่สุดก็คือความเข้าใจ พอพี่สะใภ้ได้ยินว่ามีคนเข้าใจตัวเองในใจก็เกิดความรู้สึกซึ้งใจแบบที่พูดไม่ถูก ในช่วงเวลาที่เธอคิดว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีอยู่ๆก็มีคนเข้าใจเธอ ช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิด แค่นั้นก็เหมือนหัวใจได้รับการเยียวยา รู้สึกอบอุ่นหัวใจ
“งั้นเหม่ยเหวย เธอว่าพี่ควรทำไงดี?”
“ปัญหาของครอบครัวพี่ค่อนข้างเยอะ เดี๋ยวฉันจะค่อยๆสรุปให้นะคะ ก่อนอื่นเลยต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนความรักจากพ่อของพี่ในวัยเด็กที่ส่งผลกระทบในแง่ลบให้พี่ตอนนี้ หลังจากแก้ปัญหานี้แล้ว ความรู้สึกไม่ชอบเด็กของพี่ก็จะลดน้อยลง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็ยังคงเป็นการที่พ่อของเด็กต้องช่วยเลี้ยงลูกด้วย แบบนั้นถึงจะมีประโยชน์กับลูกและกับพี่ค่ะ”
“เขา…ไม่มีประโยชน์หรอก เขาไม่ยอมเลี้ยงลูก เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ชาย นี่เป็นงานของผู้หญิง”
“เรื่องนี้ต้องใจเย็นๆค่ะ ฉันมีวิธีจัดการ แต่ในระหว่างนี้แผนมีลูกคนที่สองของพี่ทางที่ดีต้องคิดให้รอบคอบค่ะ จะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับพี่ แต่ฉันขอบอกอย่างรับผิดชอบได้เลยว่า สถานการณ์ครอบครัวของพี่ในเวลานี้ หากมีลูกคนที่สองมีแต่จะทำให้พี่เหนื่อยตาย แล้วปัญหาของลูกสาวคนโตก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น”
ยังคงใช้คำพูดเดิม การมีลูกไม่ได้ช่วยมัดใจผู้ชายเอาไว้
“แต่ถ้าพี่ไม่มี เขาก็จะหย่ากับพี่ให้ได้ ถ้าหย่ากันแล้วลูกสาวพี่จะทำไง?”
“ถ้าลูกคนที่สองของพี่เป็นผู้หญิงเขาก็หย่ากับพี่อยู่ดี แล้วลูกสาวของพี่ทั้งสองคนจะทำไงคะ? ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้ ต่อให้พี่มีลูกกี่คนมันก็ไม่ช่วยอะไรค่ะ มีแต่จะเพิ่มความยุ่งยาก ตอนนี้ปัญหาที่ต้องแก้ก่อนเลยก็คืออาการซึมเศร้าของพี่ ฉันจะช่วยบำบัดจิตใจให้พี่รู้สึกรักลูกได้ไวขึ้น ต่อไปพี่จะพบว่าเพื่อลูกแล้วพี่มีพลังที่ไร้ขีดจำกัดในการทำลายทุกสิ่งที่ขวางทางพี่ไว้ รวมถึงสามีด้วยค่ะ”
ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ แต่คนเป็นแม่กลับแข็งแกร่ง สิ่งสำคัญก็คือ คนเป็นแม่ต้องยอมรับบทบาทที่เปลี่ยนไปให้ได้
หลังจากที่ทำการปรับสภาพอารมณ์แล้ว เสี่ยวเชี่ยนก็เริ่มดำเนินการรักษา พี่สะใภ้มีความกดดันภายในจิตใจมากจนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า บวกกับการขาดความรักในวัยเด็กทำให้ตอนนี้สภาพอารมณ์ของเธอไม่มั่นคง ขึ้นๆลงๆ
เสี่ยวเชี่ยนใช้วิธีรักษาแบบจิตบำบัดที่มุ่งเน้นการยอมรับและพันธสัญญา[1]ใช้เทคนิคเฉพาะทางละลายหัวใจที่ด้านชาของพี่สะใภ้ ปรับมุมมองใหม่ที่มีต่อการขาดความรักของพ่อในวัยเด็ก
ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาไปชั่วโมงกว่า
หลังเสร็จสิ้นการรักษา พี่สะใภ้ก็รู้สึกสดชื่นขึ้นมาก เธอรู้สึกคิดถึงลูกสาวขึ้นมาหน่อยแล้ว อยากจะโทรหาลูก
ตอนที่เสี่ยวเฉียงกลับมา จู้จื่อกับภรรยากลับไปแล้ว เสี่ยวเชี่ยนกำลังยืนพิงหน้าต่างมองพระจันทร์
“เสร็จเรื่องแล้วเหรอ?” เขาโอบเอวเธอจากทางด้านหลัง
“อืม นายพาอาเลี่ยวไปอยู่ที่ไหน?”
“พาไปเดินหมากกับพ่อ”
“ใครชนะ?”
“อาเลี่ยวชนะเยอะกว่า—อันที่จริงอยากจะแพ้ให้พ่อก็ไม่ง่ายนะ ฮ่าๆๆ!”
พอนึกถึงหน้าตาโกรธแค้นของพ่อแล้วเสี่ยวเฉียงก็สะใจ
“ผมจะเล่าให้ฟัง หลังจากที่พ่อแพ้ไปหลายกระดาน ก็เดินหมากไปถลึงตาใส่ผมไป เหมือนกับกำลังบอกว่า พาเขามาทำไม ฮ่าๆ ผมแสร้งทำเป็นไม่เห็น!”
ความปรารถนาของพ่ออวี๋ที่อยากจะเป็นเทพในการเดินหมาก ดูเหมือนจะยากเสียแล้ว
“ฉันเดาว่าตอนนั้นพ่อคงรู้สึกแบบ ฉันมีลูกเฮงซวยแบบนี้ได้ยังไงกันนะ?” เสี่ยวเชี่ยนเลียนแบบน้ำเสียงพ่ออวี๋ได้เหมือนมาก เสี่ยวเฉียงหัวเราะร่า
“เสียใจตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว ใครใช้ให้เขาฝีมืออ่อนเองแต่ก็ยังชอบเดินหมากล่ะ”
เด็กทารกที่อยู่แถวบ้านคนนั้นเริ่มแผดเสียงร้องไห้อีกแล้ว ร้องแบบเอาเป็นเอาตาย
เสี่ยวเชี่ยนพอได้ยินเสียงเด็กร้องก็นึกถึงการรักษาในวันนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะถามขึ้น
“นายกับเสี่ยวซีเป็นฝาแฝดกัน แล้วตอนเด็กๆเวลาพวกนายร้องไห้ที่บ้านทำไง?”
เลี้ยงลูกแค่คนเดียวก็เหนื่อยแทบแย่แล้ว แล้วนับประสาอะไรกับสองคนล่ะ
“ได้ยินว่าตอนเด็กๆผมร้องเก่งมาก ดึกๆดื่นๆก็แหกปากร้องลั่น ร้องเสียจนหลังคาบ้านแทบปลิว ตอนนี้มาคิดดูสงสัยขาดแคลเซียม ตอนนั้นครอบครัวก็ใช่ว่าจะฐานะดี เสี่ยวซีตรงข้ามกับผม พอผมร้องเขาก็จะกินนม แม่ก็เลยต้องให้นมเขา ส่วนพ่อก็มาอุ้มผมไปอีกห้อง บางครั้งถ้าพ่อไม่อยู่บ้านก็จะเป็นพี่ใหญ่ไม่ก็พี่รองที่อุ้มผม”
ดังนั้นพี่ใหญ่กับพี่รองความคิดจึงค่อนข้างโตไวกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
เสี่ยวเฉียงเองก็ฟังแม่เล่ามาอีกที บอกว่าตอนเด็กๆเขาชอบพ่อมาก ทุกครั้งที่ร้องไห้ก็จะให้พ่ออุ้ม พอฟันงอกก็กัดไหล่พ่อจนเป็นรอยเขียวช้ำ
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นพ่ออวี๋ก็ไม่เคยโมโห หัวเราะชอบใจปล่อยให้เขากัดไป
[1] Acceptance and Commitment Therapy (ACT: แอ็ค) เป็นกระบวนจิตบำบัดกระแสใหม่ที่นักบำบัดจะทำให้ผู้เข้ารับการปรึกษาเกิดการยอมรับความคิด ความรู้สึกหรือการกระทำด้านลบที่ขัดขวางบุคคลไม่ให้สู่เป้าหมายหรือค่านิยมที่ตนต้องการ และเอื้อให้ผู้รับการปรึกษาได้ชัดเจนกับคุณค่าหรือค่านิยมที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้ทั้งความคิด ความรู้และการกระทำของตนเอง